Have a question?
Message sent Close

One Health in the virture park: Itaewon Tragedy: Crowd crush case study

ภาวะฝูงชนในสถานการณ์แออัดเป็นอย่างไร? ประเทศไทยเคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้หรือไม่?

คงไม่มีใครคาดคิด ว่าการที่เราได้ไปดูคอนเสิร์ต ไปปาร์ตี้สุดมัน สนุกสุดเหวี่ยงกับเพลงสุดจี๊ดในโอกาสรื่นเริงต่าง ๆ จะกลายเป็นเรื่องน่ากลัวขึ้นมา จนถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิต จากโศกนาฏกรรมที่ผู้คนเบียดกันอย่างหนาแน่น หรือ Crowd crush ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ในคืนเทศกาลฮาโลวีน 2022 เหตุการณ์นี้คืออะไรกันแน่ มีความเสี่ยงอย่างไร เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยหรือไม่ มาทำความเข้าใจ และรู้วิธีการดูแลตัวเอง เพื่อเอาตัวรอดหากวันหนึ่งต้องตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ เครือข่ายมหาวิทยาลัยสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งประเทศไทย (THOHUN: Thailand One Health University Network) จึงรวบรวมผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วน มาร่วมพูดคุยกันอย่างพร้อมเพรียง ในเสวนาออนไลน์ “One Health in the Virtual Park” เดือนมีนาคม 2566 ในหัวข้อ “Itaewon Tragedy: Crowd crush case study ภาวะฝูงชนในสถานการณ์แออัด”

Crowd crush คืออะไร? ในโศกนาฏกรรมอิแทวอนเกิดอะไรขึ้น? ที่ไทยเคยเกิดขึ้นมาก่อนหรือไม่?

ในประเด็นนี้ จริง ๆ มีอีกคำหนึ่งที่ใกล้เคียง คือ ฝูงชนเหยียบกัน เป็นเหตุการณ์ที่เกิดในที่โล่งและมีคนล้มลง จนทำให้ถูกเหยียบ แต่เหตุการณ์อิแทวอนที่เป็นข่าวนั้น คือ เหตุการณ์ฝูงชนเบียดกัน (Crowd crush) หมายถึงเหตุการณ์ที่มีผู้คนจำนวนมากเบียดกันอยู่ในพื้นที่จำกัด หรือมีคนมากกว่า 6 คนในพื้นที่ 1 ตารางเมตร สองเหตุการณ์อาจเกิดร่วมกัน หรือแยกกันก็ได้ ผศ. พญ. กษมณฑ์ อร่ามวาณิชย์ ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลว่าว่า 70% ของ Crowd crush ทั่วโลก เกิดมาจากการรวมตัวกันของคนจำนวนมากหลายหมื่น หลายพัน ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา 20% เกิดจากงานเทศกาล และ 10% เกิดจากสถานการณ์อื่น ๆ เช่น งานคอนเสิร์ต ในประเทศไทยนั้น เหตุการณ์ Crowd crush ยังไม่ชัดเจน แต่จะเป็นเหตุการณ์คนเยอะ และเกิดเหตุไฟไหม้ ผู้คนพยายามจะหนี ล้มลง และถูกไฟไหม้จนเสียชีวิต เช่น เหตุการณ์ไฟไหม้ซานติก้าผับเมื่อปี พ.ศ. 2552

เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินเหล่านี้ โรงพยาบาลมีการรับมืออย่างไร?

ผศ. พญ. กษมณฑ์ ได้เล่าว่า หากมีคนโทรเข้า 1669 จังหวัดไหน จะไปติดศูนย์สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดนั้น เช่น กทม. จะไปติดที่ศูนย์เอราวัณ โดยเจ้าหน้าที่ที่รับสาย จะสอบถามว่าเกิดอะไรขึ้น มีคนเจ็บเท่าไร ที่ไหน ขอให้ทุกท่านตอบคำถามสั้น ๆ อย่างมีสติ เพื่อที่ศูนย์จะได้มีการจัดสรรทีมได้ถูกต้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ เมื่อลงไปถึงพื้นที่แล้ว จะมีเจ้าหน้าที่ประเมินสถานการณ์ ณ จุดเกิดเหตุ ประสานงานต่อไปยังหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงให้การรักษาเบื้องต้น ประสานงานนำส่งโรงพยาบาลใกล้เคียง

ในส่วนของผู้ประสบภัย การป้องกันตัวเองดีที่สุด คือการหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ที่สถานที่มีความเสี่ยง แต่หากต้องเข้าไป ควรสังเกตสิ่งรอบตัว พื้นที่ ทางเข้า ทางออก ไว้ล่วงหน้า ตระหนักรู้ว่าจุดที่เราอยู่อันตรายแล้วหรือยัง โดยใช้หลักการง่ายๆ เช่น 1) ตัวของเรามีการสัมผัสกับคนข้าง ๆ 2) โดนชนจากคนรอบตัว 1-2 คน โดยไม่ตั้งใจ และ 3) ไม่สามารถขยับมือไปมาได้อย่างอิสระ แสดงว่าเราเริ่มอยู่ในพื้นที่แออัดแล้ว ฉะนั้นเราควรเอาตัวเองออกมาก่อนที่จะเกิดเหตุไม่คาดคิด สิ่งนี้ไม่ได้เป็นการช่วยแค่ตัวเอง แต่เป็นการช่วยคนอื่นด้วยเหมือนกัน ด้วยการทำให้ความแออัดลดลง

ผศ. พญ. กษมณฑ์ เน้นย้ำว่า หากเราตกอยู่ในสถานการณ์แล้ว เราควรตั้งสติ มองหาพื้นที่ปลอดภัย และออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด ทรงตัวไม่ให้ล้มลงตามแรงฝูงชน ควบคุมการหายใจ อย่าตะโกน ยกแขนขึ้นป้องกันระดับอก หลีกเลี่ยงจากสิ่งกีดขวาง เช่น ผนังตึก ซึ่งจะทำให้เราโดนบีบอัด ช่วยเหลือผู้อื่นหลังจากเราออกมายังที่ปลอดภัยแล้ว โดยทีมช่วยเหลือจะประเมินอาการ เช่น ดูการตอบสนอง หากหมดสติแต่ยังหายใจอยู่ ต้องใช้พัดหรือพัดลมช่วยในการเพิ่มปริมาณอากาศ หรือหากไม่หายใจจะต้องมีการ CPR เบื้องต้น

มาตราการการป้องกัน Crowd crush ในประเทศไทย

กรุงเทพมหานคร ถือเป็นมหานคร จึงทำให้มีเหตุการณ์การรวมฝูงชนหลายครั้ง เช่น การเคาน์ดาวน์ปีใหม่ตามห้างสรรพสินค้า เทศกาลสงกรานต์ หรือเทศกาลลอยกระทง คุณพัทธนันท์ ชูดวง หัวหน้ากลุ่มงานวิศวกรรมป้องกันอัคคีภัย จากกรุงเทพมหานคร ให้ข้อมูลว่า กทม. นั้นให้ความสำคัญกับการจัดการ โดยมีแผนเตรียมพร้อม และรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ซึ่งในแผน ประกอบด้วยหน่วยงานหลายหน่วยงาน ก่อนเกิดเหตุมีการเตรียมตัว โดยการวิเคราะห์สถานการณ์ สำรวจพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเปราะบาง เส้นทางเข้าออกสำรอง สำรวจการติดตั้งป้ายสัญลักษณ์ เตรียมการปฐมพยาบาล เตรียมทีมแพทย์ จำกัดจำนวนคนเพื่อป้องกันตั้งแต่ต้น จะช่วยลดความเสี่ยง

หน่วยงานของกทม. ที่มีส่วนร่วมในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ เช่น สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสำนักการแพทย์ จะมีการเตรียมทีมแพทย์ ทีมเจ้าหน้าที่ เตรียมเวชภัณฑ์ เครื่องมือ อุปกรณ์ มีการเตรียมตัวประสานงานกับโรงพยายาบาลความร่วมมือใกล้เคียง สำนักงานเขต รับหน้าที่ระบุจุดใกล้เคียงที่จะรองรับคนจำนวนมากหากเกิดเหตุ สำนักการจราจร ดูแลกล้อง CCTV บริเวณที่จัดงาน เพื่อเฝ้าดูจำนวนคนและเหตุกาณ์ต่าง ๆ เพื่อจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปได้ทันท่วงที สำนักเทศกิจ ดูแลอำนวยความสะดวก เส้นทางต่าง ๆ ดูแลรักษาทรัพย์สิน และความปลอดภัยร่วมกับสำนักงานตำรวจ

แผนการรับมือนั้น ประกอบไปด้วยสามส่วนหลัก คือ ก่อนเกิดเหตุ มีการมอบหมายภารกิจให้หน่วยงานต่าง ๆ และซ้อมแผนล่วงหน้าร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายเมื่อเกิดสถานการณ์จริง หรืออาจมีการตั้งศูนย์บัญชาการพิเศษหากมีแนวโน้มที่จะเกิดเหตุรุนแรง ขณะเกิดเหตุ ปฏิบัติตามแผนที่วางไว้ หลังเกิดเหตุ มีการเยียวยาผู้ประสบภัย ถอดบทเรียน และปรับปรุงแผนงานไว้ใช้ในโอกาสถัดไป

วิธีป้องกันและเอาตัวรอดเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ ในสถานการณ์แออัด

คุณจักรกฤษณ์ คงคำ เจ้าพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ชำนาญการ) สถานีดับเพลิงและกู้ภัยสุทธิสาร แชร์ประสบการณ์ จากการทำงานด้านป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด ไม่ว่าจะเกิดในอาคารรูปแบบต่างๆ เช่น บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ อาคารพาณิชย์ ผู้คนที่อาศัยอยู่เคหะสถานจะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับตัวอาคาร และฝึกซ้อมหนีไฟร่วมกันหากมีคนอยู่จำนวนมาก แต่พบปัญหาคนไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการปฏิบัติ อีกเรื่องที่สำคัญคือ การตระหนักถึงจุดเสี่ยงภายในบ้าน เช่น การใช้ไฟฟ้าเกินกำลัง เสียบปลั๊กทิ้งไว้นาน ๆ เทคนิคหนีไฟ ให้คว่ำหน้า ผ้าชุบน้ำหมาดปิดปาก จมูก หมอบลง คลานหาทางออก โทรเรียกกู้ภัย

ในส่วนของคอนโดมิเนียม จากประสบการณ์ ผู้เผชิญเหตุมักได้รับผลกระทบจากควัน วิธีคือให้สังเกตและหลีกเลี่ยงควันบริเวณทางเดิน หรือระเบียง ให้ระวังความร้อนจากลูกบิดประตู การใช้ชายผ้าแหย่ออกมานอกห้อง เป็นอีกเทคนิคที่จะช่วย ให้ทีมกู้ภัยทราบว่ามีคนอยู่ หรือการหนีออกมานอกระเบียง โยนสิ่งของ เป่านกหวีด ส่องไฟฉายกระทบกับผนังหรือกระดาษ โบกสิ่งของ หรือกระทำใด ๆ เพื่อส่งสัญญานให้ทีมช่วยเหลือทราบว่ามีคนอยู่ จะทำให้ทีมเข้าช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

คุณจักรกฤษณ์ ได้แชร์ข้อมูลเพิ่มเติมถึง 7 หนทางเอาตัวรอดเมื่อเกิดเพลิงไหม้ ได้แก่ 1) หนีทันทีเมื่อได้ยินสัญญาณไฟไหม้ 2) โทรแจ้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิง 3) หาผ้าชุบน้ำผิดจมูก ปิดปาก 4) หาถุงพลาสติกเก็บอากาศ ครอบศีรษะ คลานต่ำหนี 5) ห้ามใช้ลิฟต์ 6) กรณีมีเปลวไฟอยู่หน้าห้อง ห้ามเปิดประตู และ 7) กรณีไฟไหม้ในห้องตัวเอง ให้รีบหนีออกมา

เทคโนโลยีในปัจจุบันด้าน Crowd Management

ดร.สุพรรณ ทิพย์ทิพากร หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยกตัวอย่างจากที่มีการใช้งานจริงในต่างประเทศ เช่น มีการใช้ AI วิเคราะห์จำนวนคนจากภาพ ซึ่งเก็บภาพมาจากกล้องวงจรปิด หรือโดรน โดยการภาพวิเคราะห์ว่าที่ถ่ายมาเป็นคนจริง ๆ ซึ่งมีการใช้งานจริงในโอลิมปิกฤดูหนาว อีกตัวอย่าง คือการใช้กล้อง ควบคู่กับ ซอฟต์แวร์ในกาติดตาม ควบคุมจำนวนคนเข้าอาคาร ว่าเข้ามากี่คน ดูทิศทางการเคลื่อนที่ รองรับคนเพิ่มได้อีกหรือไม่ โดยตัวซอฟต์แวร์จะบอกเป็นสัญลักษณ์สีเขียว แดง หรืออีกตัวอย่าง ที่บริษัทหนึ่ง ใช้ real-time scan ภาพจากกล้องวงจรปิดเพื่อจำนวนคนตามเวลาจริง อีก platform หนึ่งคือ การให้คนเข้าร่วมโหลดแอพพลิเคชั่น เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลความหนาแน่นของฝูงชน หรืออีกวิธี คือ การนับจำนวนคนโดยใช้ตัวสแกนตรงประตู เสริมด้วยเซนเซอร์สแกนอาวุธ หรือวัตถุระเบิด เพื่อเพิ่มความปลอดภัยยิ่งขึ้น อีกตัวอย่าง เช่น ตามคอนเสิร์ตต่างๆ มีการใช้ wristband ซึ่งมีการเรืองแสงเพิ่มความสวยงาม อีกตัวอย่างคือการใช้เทคโนโลยี Radio-frequency identification (RFID) ติดตาม ว่ามีความหนาแน่นของฝูงชน ณ จุดไหนของงาน ข้อดีคือรวดเร็ว หรือมีฟังกชั่นเสริม ช่วยให้จ่ายเงินได้ซึ่งจะผูกกับบัญชี และสามารถเพิ่งฟังก์ชั่นร่วมกับ IoT ต่าง ๆ เช่น วัดอัตราการเต้นของหัวใจ วัดความเร็ว ปริมาณอากาศ วัดความสูงจากพื้นในกรณีที่ล้มลง

เนื้อหาเหล่านี้ ได้มาจากงานเสวนาออนไลน์ “One Health in the Virtual Park” ในหัวข้อ “Itaewon Tragedy: Crowd crush case study ภาวะฝูงชนในสถานการณ์แออัด” ที่รวมผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์สถานการณ์ฝูงชนแออัด ไฟไหม้ และวิธีเอาตัวรอดจากสถานการณ์ดังกล่าว หลายแขนงมาร่วมกันถ่ายทอดความรู้ในมิติต่าง ๆ สำหรับใครที่สนใจ อยากรู้เพิ่มเติม เราขอเชิญชวนรับชมกิจกรรมเสวนาออนไลน์ย้อนหลัง ได้ที่ https://fb.watch/jt8jSqxmBy/ ติดตามประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพที่สนใจจากกิจกรรมเสวนาออนไลน์รายเดือน “One Health in the Virtual Park” ซึ่งจัดโดยเครือข่ายมหาวิทยาลัยสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งประเทศไทย (THOHUN: Thailand One Health University Network) ครั้งต่อไปได้ที่เพจ Thailand One Health University https://www.facebook.com/NCOTHOHUN/